ทั่วไป

 

หมึกพิมพ์สีรเหิด ( Sublimation Ink )

หมึกพิมพ์สีระเหิด (Sublimation Ink หรือ Durasud )

ส่วนประกอบสำคัญที่สุดของหมึกพิมพ์สีระเหิดนั้น คือ แม่สีสีระเหิด (sublimation dyes) ที่ใช้เพื่อให้เกิดสีต่างๆ เมื่อได้รับความร้อน แม่สีเหล่านี้จะระเหย กลายเป็นไอและผ่านไปเกาะติดลงบนผ้าในลักษณะย้อมเส้นใยเป็นผลให้ลวดลายที่พิมพ์เกิดลงบนผืนผ้าและมีความนุ่มเช่นเดียวกับวัสดุ ในขณะเดียวกันก็มีคุณสมบัติทนต่อการซักและทนแดดได้เป็นอย่างดี
ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ นอกจากการรีดลอกลงบนผ้าแล้วยังสามารถลอกบนวัสดุสังเคราะห์และวัสดุเคลือบผิวด้วยสารสังเคราะห์อื่นๆ ได้ เช่น พลาสติกทนความร้อน โลหะเคลือบผิว ไม้เคลือบผิว ฯลฯ

การพิมพ์รูปลอกสีระเหิด
การพิมพ์รูปลอกประเภทนี้สามารถพิมพ์ได้หลายระบบ เนื่องจากแม่สีที่ใช้สามารถนำมาผลิตเป็นหมึกพิมพ์ต่างชนิดได้ เช่นหมึกพิมพ์ออฟเซต (offset) หมึกพิมพ์กราวัวร์ (rotogravure) หมึกพิมพ์สกรีน (screen) และล่าสุดคือ หมึกพิมพ์อิงค์เจต (inkjet) ซึ่งปริมาณงานพิมพ์ ความคมชัดและความละเอียดของลวดลายที่จะพิมพ์จำเป็นต้องกำหนดระบบการพิมพ์ที่จะนำมาใช้ดังเช่น งานพิมพ์ทั่วๆ ไป เช่น ระบบกราเวียร์จะเหมาะกับลวดลายที่ต้องการพิมพ์ต่อเนื่อง (step – repeat continuous) เช่น การพิมพ์ผ้าม้วน ระบบออฟเซต จะเหมาะกับการพิมพ์จำนวนมาก และต้องการความละเอียดสูง การพิมพ์สกรีนเหมาะกับจำนวนพิมพ์ปานกลาง ความละเอียดปานกลางถึงสูง การพิมพ์อิงค์เจตจะเหมาะกับการพิมพ์จำนวนน้อย หรือใช้พิมพ์งานตัวอย่าง

การรีดลอก
การรีดลอกสีระเหิดนั้นขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิ แรงกด และเวลา ดังนั้น เครื่องรีดลอกนี้จะนำมาใช้ในการรีดลอกนี้จะต้องมีคุณสมบัติทั้ง 3 ประการ โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ แบบเรียบ (flat-bed) และแบบม้วน (rotary) เครื่องแบบเรียบ จะเหมาะกับงานที่เป็นผ้าชิ้น ตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ สำหรับเครื่องแบบม้วน จะเหมาะกับการรีดทั้งที่เป็นม้วน เช่น ผ้าหลา และงานรีดแบบแผ่น ข้อดีประการหนึ่งของการรีดลักษณะนี้ คือความสม่ำเสมอของความร้อนตลอดแนวรีดจะดีกว่าแบบแผ่นเรียบ
อุณหภูมิที่ใช้รีดลอกจะอยู่ระหว่าง 190 – 210 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 – 45 วินาที ขึ้นอยู่กับเฉดสีและชนิดของผ้า แรงกดจะอยู่ที่ประมาณ 35 – 45 psi หรือแรงกดปานกลาง

การพิมพ์
ไม่ว่าจะพิมพ์ด้วยระบบใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้พิมพ์จะต้องพึงระวังอยู่เสมอคือ การยืดและหดตัวของกระดาษ เนื่องจากประเทศไทยเรามีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี ดังนั้นหากต้องการพิมพ์สอดสีหรือมีเม็ดสกรีนละเอียด ผู้พิมพ์จะต้องใช้กระดาษที่มีความยืดและหดตัวน้อย เพื่อง่ายต่อการทำงาน โดยเฉพาะหมึกพิมพ์สีระเหิดที่เป็นฐานน้ำ (water-based) นอกจากนี้กระดาษที่นำมาใช้พิมพ์รูปลอก ยังต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ซึมซับหมึกมากจนเกินไป และเมื่อรีดลอกแล้วยังต้องมีคุณสมบัติที่จะต้องให้หมึกระเหยออกไปสู่ชิ้นงานผ้ามากที่สุดโดยทั่วไปกระดาษที่นำมาใช้
กับการรีดลอกสีระเหิดนี้จะเป็นกระดาษที่มี clay coated paper โดยมีน้ำหนักระหว่าง 75 – 100 กรัม/ตรม. ขึ้นอยู่กับระบบการพิมพ์โดยเฉพาะการพิมพ์อิงค์เจต ซึ่งแนะนำให้ใช้กระดาษสำหรับการพิมพ์อิงค์เจตโดยเฉพาะ

การควบคุมคุณภาพและตัวแปรในการพิมพ์
อุณหภูมิ
อุณหภูมิที่ใช้ในการรีดลอกจะอยู่ระหว่าง 190-210 องศาเซลเซียส บนเนื้อผ้าหากอุณหภูมิในการรีดลอกต่ำกว่าที่กำหนดจะทำให้สีไม่สดหรืออาจซีดจางกว่าปกติ หรือต้องใช้ระยะเวลาในการรีดนานเกินไป และการเกาะติดของสีอาจไม่ดีเมื่อนำไปซัก หากอุณหภูมิในการรีดสูงเกินอาจทำความเสียหายต่อผ้าที่นำมารีดลอกได้ เช่น ผ้าหด ผ้าเสียรูปทรง และในขณะเดียวกันก็เป็นการสิ้นเปลืองพลังงานอีกด้วย

วัสดุ
วัสดุที่จะนำมารีดลอกนั้นจะต้องสามารถทนต่ออุณหภูมิที่จะทำการรีดลอกได้ดีโดยไม่เสียรูปทรง หรือ คุณสมบัติอื่นๆ ของวัสดุนั้นๆ และโดยทั่วไป ขนาดของวัสดุที่จะนำมารีดลอกนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าขนาดของลายพิมพ์ เพื่อหลีกเลี่ยงรอยกดที่เกิดขึ้นจากขอบกระดาษที่ถูกกดลงไปบบตัวผ้า

เวลา
เวลาในการรีดลอกจะอยู่ที่ประมาณ 30–40 วินาที ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติในการรับสีของวัสดุนั้นๆ ดังนั้น ผู้พิมพ์ควรทดสอบการรีดโดยใช้เวลาที่แตกต่างกันออกไปเพื่อจะได้ทราบถึงเวลาในการรีดที่ถูกต้อง โดยสังเกตจากความเข้มของสีทั้งบนวัสดุและลายที่พิมพ์ หากใช้เวลาในการรีดน้อยเกินไป ส่วนใหญ่เมื่อรีดแล้วสีจะไม่ชัด และมักมีสีอ่อนกว่าที่กำหนดและในทางตรงกันข้ามหากใช้เวลาในการรีดมากเกินไป อาจทำให้สีของวัสดุเปลี่ยนไปโดยที่สีของลายพิมพ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก ในขณะเดียวกันก็เป็นการสิ้นเปลืองพลังงานและเวลาในการผลิตอีกด้วย

แรงกด
แรงกดนั้นมีส่วนสำคัญต่อคุณภาพของงานที่จะเกิดขึ้น แรงกดปกติที่ใช้ในการรีดลอกจะอยู่ที่ 35-40 psi หรือแรงกดปานกลาง หากแรงกดน้อยเกินไปก็จะทำให้เกิดการพุ้งกระจายของสี เป็นเงาจางๆ บริเวณรอบลายที่พิมพ์และทำให้ลายไม่คมชัด และอาจส่งผลต่อการเกาะติดอีกด้วย
ข้อควรระวัง หากใช้แรงกดมากเกินไปอาจทำให้วัสดุเสียหายได้ เช่น ความนุ่มฟูของวัสดุอาจลดลง หรืออาจเกิดริ้วรอยต่างๆ ที่เกิดจากการกดทับของเตารีดขึ้น

ลายผีหลอก (ghost image)
ลายผีหลอกหรือการเกิดเงาซ้อนบนชิ้นงาน อาจเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ การเคลื่อนตัวของแผ่นรูปลอกในขณะที่กำลังยกเตาขึ้นโดยสังเกตได้จากเงาซ้อนที่เกิดขึ้นจะเคลื่อนตัวไปในทางเดียวกันทั้งผืน ผู้พิมพ์อาจแก้ไขได้โดยการใช้กระดาษที่มีน้ำหนักมากขึ้นหรือใช้กาวสเปรย์พ่นลงบนแท่นรีดก่อน อีกสาเหตุหนึ่งคือ วัสดุที่นำมารีดลอกมีความหนาแน่นน้อยเกินไป ทำให้สีระเหิดพุ้งกระจายเข้าไปในโพรงอากาศหรือรูพรุนของวัสดุนั้น ๆ ทำให้เกิดรอยสีขึ้น ในกรณีนี้ผู้พิมพ์ควรปรึกษากับลูกค้าว่าสามารถยอมรับได้หรือไม่

สีของลวดลายพิมพ์ไม่สม่ำเสมอ
หากปรากฏว่าหลังจากรีดลอกแล้ว เฉดสีในบางพื้นที่ของลวดลายมีความเข้มอ่อนต่างกันอย่างเห็นได้ชัดนั้น อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ความผิดพลาดในขณะพิมพ์สีบนรูปลอกไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งแผ่น อุณหภูมิบนหน้าเตารีดไม่เท่ากันซึ่งอาจเกิดจากลวดความร้อนเสียหายบางจุด ปัญหานี้มักพบในเครื่องรีดแบบเรียบมากกว่าแบบม้วน และสาเหตุสุดท้ายอาจเกิดจากแผ่นรีดของเตารีดไม่เรียบ มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ทำให้แรงกดในแต่ละจุดไม่เท่ากัน ส่งผลให้สีที่พิมพ์ไม่สม่ำเสมอ

Comments powered by CComment

Please publish modules in offcanvas position.