คำว่า “พิมพ์” ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “print” ซึ่งหมายความถึง การผลิตข้อความและภาพโดยใช้ตัวพิมพ์ แม่พิมพ์ หรือ แบบพิมพ์ ซึ่งถูกทาหรือฉาบด้วยหมึกแล้วกดทับลงบนวัสดุที่ต้องการพิมพ์ เช่นกระดาษ ผ้า ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 คือ 1) การใช้เครื่องจักรกดตัวหนังสือหรือภาพให้ติดลงบนวัตถุ เช่น กระดาษ ผ้า 2) การทำให้เป็นตัวหนังสือหรือรูปรอยอย่างใด ๆ โดยการกดหรือการใช้พิมพ์หิน เครื่องกล วิธีเคมี หรือวิธีอื่นใด อันอาจให้เกิดเป็นสิ่งพิมพ์ขึ้นมาหลายสำเนา
ส่วนคำว่า “การพิมพ์” ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “printing” ซึ่งหมายความถึง การผลิตสำเนาข้อความและภาพลงบนวัสดุที่ต้องการพิมพ์ เช่นกระดาษ ผ้า ตามความหมายในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 คือ การทำให้เป็นตัวหนังสือหรือรูปรอยอย่างใด ๆ โดยการกด หรือ การใช้พิมพ์หิน เครื่องกล วิธีเคมี หรือวิธีอื่นใดให้เกิดเป็นสื่อพิมพ์ขึ้นหลายสำเนา
วิวัฒนาการของการพิมพ์
วิวัฒนาการการพิมพ์เริ่มจากยุคโบราณเมื่อมนุษย์รู้จักการสื่อสารกันด้วยการวาดภาพ การเขียนสัญลักษณ์เป็นรูป ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นตัวอักษรภาพ แล้วจึงเป็นตัวอักษร การพิมพ์ได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศจีน ได้มีการสร้างแม่พิมพ์โดยแกะสลักตัวอักษรหรือภาพลงบนท่อนไม้ ก้อนหิน งาช้าง หรือกระดูกสัตว์ แล้วนำแม่พิมพ์ที่ได้ไปกดลงดินเหนียว ขี้ผึ้ง หรือครั่ง ปรากฏเป็นตัวอักษรหรือภาพตามแม่พิมพ์ เมื่อมีการคิดค้นทำกระดาษขึ้น การพิมพ์ก็ได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ
วิวัฒนาการการพิมพ์พื้นนูน (Relief Printing) ประมาณปี ค.ศ. 170 ชาวจีนได้มีการคัดลอกตำราและรูปโดยแกะสลักตัวอักษรและรูปบนแผ่นหินให้ส่วนที่เป็นตัวอักษรหรือลายเส้นนูนขึ้น แล้วนำเอากระดาษมาทาบ ใช้ถ่านมาถูจนเกิดภาพตัวอักษรบนกระดาษ ประมาณปี ค.ศ. 400 ชาวจีนชื่อ ไหว่ตัง ได้คิดค้นทำหมึกได้สำเร็จ จึงมีการนำตราประทับซึ่งทำโดยการนำเอาก้อนไม้หรือก้อนหินมาแกะทำเป็นแม่พิมพ์ จุ่มหมึกแล้วประทับบนกระดาษและวัสดุอื่น ๆ จากการทำตราประทับเล็ก ๆ ได้มีการทำแม่พิมพ์ที่ใหญ่ขึ้นมีข้อความและภาพมากขึ้น สามารถนำแม่พิมพ์ดังกล่าวมาจุ่มหมึกทำสำเนาบนวัสดุใช้พิมพ์ต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก ๆ การพิมพ์ลักษณะนี้เรียกว่าการพิมพ์บล็อกไม้ (Wood Block Printing) ต่อมาในปี ค.ศ. 1040 มีชาวจีนชื่อ ไป่เช็ง ได้คิดค้นแกะตัวอักษรบนแท่งดินเหนียวเป็นตัว ๆ ทำให้แข็งโดยการผึ่งแดดแล้วนำไปเผา เมื่อต้องการใช้ก็นำแท่งดินเหนียวที่มีตัวอักษรที่เกี่ยวข้องมาเรียงเป็นข้อความที่ต้องการ แล้วใช้เป็นแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1400 ชาวเกาหลีได้คิดค้นประดิษฐ์ตัวพิมพ์ทำจากโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุกได้สำเร็จ ทำให้ตัวพิมพ์มีความแข็งแรงมากขึ้น
ทางด้านยุโรป ในปี ค.ศ. 1455 นายโยฮัน กูเตนเบิร์ก (Johann Gutenberg) ได้ประดิษฐ์ตัวพิมพ์โลหะผสมได้สำเร็จเช่นกัน นายกูเตนเบิร์กยังได้พัฒนาเครื่องพิมพ์ หมึกพิมพ์ กระดาษที่ใช้พิมพ์ และกรรมวิธีในการพิมพ์ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งการพิมพ์” การพิมพ์พื้นนูนที่เรียกเล็ตเตอร์เพรสส์ (Letter Press) นี้จึงเป็นที่นิยมกันมากขึ้น มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นตามเมืองใหญ่ ๆ และเผยแพร่สู่ประเทศอเมริกา เนื่องจากการเรียงพิมพ์ด้วยมือต้องใช้แรงงานและใช้เวลามาก จึงมีการคิดค้นใช้เครื่องเรียงตัวอักษร (Linecast Typesetting) ซึ่งใช้ความร้อนหล่อตัวพิมพ์ จึงเรียก “ตัวพิมพ์แบบร้อน” (Hot Type) ที่มีชื่อเสียงคือ เครื่องเรียงไลโนไทป์ (Linotype) ซึ่งจะทำการเรียงทีละบรรทัด นิยมใช้ในงานทำแม่พิมพ์หนังสือพิมพ์ และเครื่องเรียงโมโนไทป์ (Monotype) ซึ่งเป็นเครื่องที่เรียงออกมาเป็นตัวต่อกันเป็นบรรทัด นิยมใช้ในงานทำแม่พิมพ์หนังสือ ใน ค.ศ. 1898 ได้มีการประดิษฐ์เครื่องเรียงพิมพ์ด้วยแสงขึ้น (Phototypesetting) ใช้สร้างตัวพิมพ์แบบ “ตัวพิมพ์แบบเย็น” (Cold Type) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแม่พิมพ์พื้นนูนแบบแผ่นด้วยการใช้วิธีฉายแสงโดยใช้น้ำยาไวแสงฉาบลงบนแผ่นโลหะที่ใช้เป็นแม่พิมพ์ ทำให้การทำแม่พิมพ์สะดวกขึ้น
เครื่องจักรที่ใช้พิมพ์แบบพื้นนูนในยุคแรก ๆ อาศัยแรงงานในการทำงานเป็นหลัก เป็นเครื่องแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องพิมพ์ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในปี ค.ศ. 1799 นายวิลเลียม นิโคลสัน (William Nicholson) ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำในการทำงานได้สำเร็จ ในช่วงแรกเครื่องพิมพ์มีลักษณะเป็นการป้อนกระดาษแบบแผ่น เมื่อมีความต้องการงานพิมพ์ให้รวดเร็วขึ้น จึงได้มีการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษแบบเป็นม้วนได้สำเร็จ ต่อมาได้มีการทำแม่พิมพ์ผิวที่นูนเป็นยางธรรมชาติและใช้สีย้อมอะนิลีนเป็นหมึกในการพิมพ์ จึงเรียกชื่อว่า การพิมพ์อะนิลีน (Aniline Printing) เมื่อสีอะลินินถูกห้ามใช้เนื่องจากมีพิษ จึงเลือกใช้หมึกชนิดอื่นและตั้งชื่อการพิมพ์แบบนี้ใหม่ว่า เฟล็กโซกราฟี (Flexography) ระบบเฟล็กโซกราฟีมีการพัฒนาในเวลาต่อมา มีการใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติ ใช้หมึกแห้งเร็ว และนำลูกกลิ้งแอนิล็อกซ์ (Anilox Roller) มาช่วยในการจ่ายหมึกไปยังแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบเฟล็กโซกราฟีที่ใช่มาจนปัจจุบัน
วิวัฒนาการการพิมพ์พื้นลึก (Recess Printing) ลักษณะการพิมพ์พื้นลึกจะต่างกับการพิมพ์พื้นนูนตรงที่ส่วนที่เป็นภาพที่ต้องการให้ปรากฏหมึกพิมพ์จะเป็นร่องลึกลงไปในแม่พิมพ์เพื่อขังหมึกไว้ส่งผ่านให้วัสดุใช้พิมพ์ต่อไป ชาวจีนเป็นผู้ริเริ่มการพิมพ์ด้วยกรรมวิธีนี้โดยแกะท่อนไม้เป็นร่องลึกและใช้เป็นแม่พิมพ์ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 ต่อมาชาวอิตาลี ชื่อ มาโช ฟินิเกอรา (Maso Finigura) ได้ใช้แผ่นทองแดงเป็นแม่พิมพ์แทนท่อนไม้แบบของชาวจีน ในยุคนั้นได้มีการใช้พิมพ์ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์และภาพทางศาสนา และมีการเรียกกรรมวิธีการพิมพ์นี้ว่า การพิมพ์อินทาโย (Intaglio) ในช่วงแรก การทำแม่พิมพ์ใช้วิธีแกะสลักบนแผ่นโลหะ ต่อมาได้ใช้วิธีการเคลือบแผ่นโลหะด้วยสารที่ทนการกัดกร่อนของกรด ใช้เหล็กขูดสารเคลือบบริเวณส่วนที่ต้องการสร้างภาพแล้วใช้กรดกัดจนเกิดเป็นร่องลึกตามบริเวณที่ถูกขูด จากนั้นก็มีการพัฒนาโดยการกัดแม่พิมพ์โลหะหลุมเล็ก ๆ กระจายตามความเข้มที่ต้องการลงหมึกทำให้เกิดได้ภาพที่มีมิติขึ้น
ในปี ค.ศ. 1844 นายวิลเลียม เฮนรี ฟอกซ์ ทาลบอท (William Henry Fox Talbot) ได้นำเทคนิคการสร้างภาพผ่านแผ่นสกรีนกระจกมาทำแม่พิมพ์โลหะและเรียกกรรมวิธีนี้ว่า โฟโตกราวัวร์ (Photogravure) การพัฒนาระบบกราวัวร์มีอย่างต่อเนื่องและสามารถประดิษฐ์เครื่องกราวัวร์ป้อนกระดาษแบบม้วนด้วยความเร็วสูง ซึ่งเรียกว่า โรโตกราวัวร์ (Rotogravure) ในปี ค.ศ. 1880 และต่อมาก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่องกราวัวร์แบบป้อนแผ่นขึ้นในปี ค.ศ. 1913 การพิมพ์กราวัวร์ยังคงมีใช้อยู่จนปัจจุบันนี้ เหมาะสำหรับการพิมพ์งานที่มีปริมาณสูง
ยังมีการพิมพ์พื้นลึกอีกประเภทหนึ่ง คือการพิมพ์แพด (Pad Printing) แม่พิมพ์แพดเป็นแม่พิมพ์แบบพื้นลึกทำจากโลหะหรือ พอลิเมอร์ หลักการพิมพ์ของการพิมพ์ลักษณะนี้คือเมื่อแม่พิมพ์รับหมึกก็จะถ่ายหมึกให้ตัวกลางซึ่งทำจากยางซิลิโคนที่ถูกเรียกว่าแพด (Pad) แพดจะถ่ายโอนหมึกให้กับวัสดุใช้พิมพ์อีกทอดหนึ่ง ก่อนหน้าปี ค.ศ. 1956 มีการใช้เจละตินทำเป็นแพด การพิมพ์ยังใช้เครื่องพิมพ์มืออยู่ งานส่วนใหญ่ใช้พิมพ์หน้าปัดนาฬิกา จานเซรามิก ในปี ค.ศ. 1965 ชาวเยอรมันชื่อ นายวิลเฟรด ฟิลลิปป์ (Wilfred Phillipp) ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์แพดขึ้นสำหรับพิมพ์นาฬิกามีชื่อเรียกว่าเครื่องพิมพ์แทมโป (Tempoprint) และในปี ค.ศ. 1968 นายฟิลลิปป์ยังได้ใช้ซิลิโคนมาทำเป็นแพดแทนเจละติน ทำให้งานพิมพ์มีคุณภาพดีขึ้น และยังเป็นวัสดุที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
วิวัฒนาการการพิมพ์พื้นราบ (Planographic Printing) การพิมพ์พื้นราบเกิดภายหลังการพิมพ์เล็ทเตอร์เพรสส์และการพิมพ์อินทาโย ในปี ค.ศ. 1798 นายอะลัว เชเนเฟเดอร์ (Alois Senefelder) ชาวโบฮีเมียนได้มีการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์หิน (Lithography) ซึ่งเป็นการพิมพ์พื้นราบ โดยทำภาพที่ต้องการรับหมึกบนแม่พิมพ์หินให้เป็นไข แล้วใช้น้ำผสมกาวกระถินลูบบนแม่พิมพ์หินดังกล่าว น้ำที่ผสมกาวกระถินจะไม่เกาะบริเวณไข และเมื่อคลึงหมึกลงบนแม่พิมพ์ หมึกมีคุณสมบัติเป็นน้ำมันจะไม่เกาะติดบริเวณที่เป็นน้ำแต่จะไปเกาะติดบริเวณที่เป็นไขซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นภาพ เมื่อนำแผ่นกระดาษมาทาบบนแม่พิมพ์ก็จะเกิดภาพบนกระดาษนั้นและให้ภาพที่คมชัดสวยงามกว่าระบบการพิมพ์อื่นในยุคนั้น
ในปี ค.ศ. 1905 ชาวอเมริกันชื่อนายไอรา วอชิงตัน รูเบล (Ira Washington Rubel) ได้ค้นพบวิธีทำให้ภาพคมชัดขึ้นโดยบังเอิญ กล่าวคือ แทนที่จะให้กระดาษรับหมึกโดยตรงจากแม่พิมพ์ ก็ให้ผ้ายางเป็นผู้กดทับและรับหมึกจากแม่พิมพ์ก่อน แล้วผ้ายางจึงกดทับถ่ายหมึกที่เป็นภาพพิมพ์ไปยังกระดาษอีกที เนื่องจากผ้ายางมีความนิ่ม การส่งถ่ายหมึกจึงสมบูรณ์ ภาพจึงคมชัดสวยงามยิ่งขึ้น การพิมพ์ที่มีการถ่ายทอดภาพพิมพ์สองครั้งนี้ถูกเรียกว่าการพิมพ์ออฟเซ็ท (Offset Printing)
การพิมพ์ระบบออฟเซ็ทมีการพัฒนาในหลายด้าน มีการใช้แม่พิมพ์เป็นแผ่นโลหะ เคลือบสารไวแสงลงบนแม่พิมพ์ ปรับปรุงการสร้างภาพบนแม่พิมพ์ที่มีความละเอียดสูงขึ้น มีการคิดค้นการพิมพ์ออฟเซ็ทแบบไร้น้ำโดยใช้แม่พิมพ์ที่คลือบด้วยซิลิโคนซึ่งไม่ถูกกับน้ำมันและส่วนที่เป็นภาพนั้นซิลิโคนจะถูกกัดออกไป อีกทั้งมีการพัฒนาเครื่องพิมพ์ให้พิมพ์งานเร็วขึ้น แม่นยำขึ้น คุณภาพงานพิมพ์ดีขึ้น พิมพ์สอดสีได้ในการพิมพ์เที่ยวเดียว มีทั้งเครื่องพิมพ์แบบป้อนแผ่นและเครื่องพิมพ์แบบป้อนม้วน เนื่องจากคุณภาพงานพิมพ์ที่ดีและมีความคล่องตัวสูง การพิมพ์ระบบออฟเซ็ทจึงเป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายและกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน
วิวัฒนาการการพิมพ์พื้นฉลุ การพิมพ์พื้นฉลุมีมาตั้งแต่ยุคโบราณโดยทำแม่พิมพ์แบบง่าย ๆ ด้วยการตัดเจาะกระดาษหรือวัสดุอื่นเป็นช่องตามลักษณะของรูปที่ต้องการ ทาบแม่พิมพ์ลงบนสิ่งที่ต้องการพิมพ์แล้วใช้หมึกพ่นหรือปาดบนแม่พิมพ์ ก็จะได้ภาพดังกล่าว การพิมพ์แบบนี้ว่า การพิมพ์สเตนซิล (Stencil Printing) ในยุคแรก ๆ มีการพิมพ์ตัวอักษร เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ด้วยวิธีดังกล่าว ประเทศจีนได้ใช้กรรมวิธีนี้พิมพ์ภาพบนผ้าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 การพิมพ์แบบนี้มักมีปัญหาคือ แม่พิมพ์ซึ่งทำจากกระดาษหรือวัสดุอื่นในสมัยนั้นไม่ค่อยแข็งแรง จึงพิมพ์ชิ้นงานได้น้อย และลวดลายของภาพหรือตัวอักษรจะมีบางส่วนขาดตอนไปเนื่องจากการตัดแม่พิมพ์ต้องเหลือส่วนของเนื้อแม่พิมพ์สำหรับยึดติดกันไม่หลุดลุ่ย ทำให้งานพิมพ์ดูไม่สวยงาม ต่อมามีการใช้แผ่นโลหะทำเป็นแม่พิมพ์เพื่อให้แม่พิมพ์แข็งแรงขึ้น แต่เป็นการสร้างความลำบากในการทำแม่พิมพ์และใช้เวลาในการทำ
ต่อมามีการพัฒนาให้กระดาษทนทานขึ้น และมีผู้นำกระดาษไปเคลือบไขแล้วใช้โลหะปลายแหลมทิ่มด้วยมือลงบนกระดาษไขเป็นรูเล็ก ๆ เรียงกันให้เป็นภาพขึ้น ถึงแม้จะทำให้ได้งานที่ดีขึ้นแต่เป็นงานที่ใช้ฝีมือและเวลาในการทำ ในปี ค.ศ. 1876 นายโทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ที่ใช้หลักการดังกล่าวได้สำเร็จ เรียกว่าเครื่องพิมพ์โรเนียว หรือเครื่องทำสำเนาสเตนซิล (Stencil Duplicator) และยังประดิษฐ์ปากกาสเตนซิล (Stencil Pen) ใช้แทนโลหะปลายแหลม ต่อมามีพัฒนาวิธีการสร้างภาพบนกระดาษไขโดยใช้วิธีการฉายแสงซึ่งก็ใช้ได้จนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวญี่ปุ่นได้ใช้เส้นผมของคนและกาวมาทำแม่พิมพ์แบบฉลุขึ้น ทำให้ได้งานที่ละเอียดกว่าการตัดกระดาษ เรียกกรรมวิธีการพิมพ์นี้ว่า การพิมพ์แฮร์สแตนซิล (Hair Stencil) และต่อมาได้มีการใช้เส้นไหมซึ่งแข็งแรงกว่ามาใช้ทำแม่พิมพ์แทนเส้นผม จึงมีชื่อเรียกกรรมวิธีนี้ว่า การพิมพ์ซิลค์สกรีน (Silkscreen Printing) การพิมพ์ซิลค์สกรีนได้แพร่เข้าไปในยุโรปและเป็นที่นิยมทั้งในฝรั่งเศสและอังกฤษ และถูกเผยแพร่ไปยังทวีปอเมริกา ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวอเมริกันชื่อนายชาลส์ เนลสัน โจนส์ (Charles Nelson Jones) ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์สกรีนขึ้นสำเร็จ ทำให้การพิมพ์สกรีนผลิตงานรวดเร็วขึ้น การพิมพ์ซิลค์สกรีนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้อย่างกว้างขวางเนื่องจากต้นทุนต่ำและทำงานง่าย ในปัจจุบันมีการใช้ผ้าใยสังเคราะห์แทนผ้าไหมในการทำแม่พิมพ์ และใช้สารไวแสงเคลือบก่อนที่จะนำภาพต้นแบบทาบแล้วสร้างภาพด้วยการฉายแสง
วิวัฒนาการการพิมพ์ดิจิตอล (Digital Printing) ในอีกด้านหนึ่งได้มีพัฒนาการด้านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องหลังจากที่มีการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ตัวแรกคือ อีนีเอค ENIAC (Electronic Numerical Integrator and Computer) ในปีค.ศ. 1945 เครื่องพิมพ์ที่ต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์ในยุคแรก ๆ ใช้พิมพ์เฉพาะตัวอักษรโดยไม่ได้เน้นความสวยงาม ประมาณปีค.ศ. 1979 ได้มีการบริษัทหลายบริษัทจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเรียกว่า ไมโครคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์ก็มีการพัฒนาตามมาด้วย เครื่องพิมพ์ต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์หรือพริ้นเตอร์ได้มีการพัฒนาเช่นกัน ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องพริ้นเตอร์โดยใช้หลักการพิมพ์แบบต่าง ๆ เช่น
การพิมพ์แบบถ่ายโอนความร้อน (Thermal Transfer Printing) ซึ่งใช้หลักการถ่ายความร้อนจากหัวพิมพ์ไปยังฟิล์มที่เคลือบด้วยหมึกพิมพ์ทำให้หมึกพิมพ์หลุดไปเกาะติดกับวัสดุใช้พิมพ์จนเกิดเป็นภาพ
การพิมพ์แบบพ่นหมึก/อิงค์เจ็ท (InkJet Printing) ซึ่งใช้หลักการพ่นหยดหมึกเล็ก ๆ จากหัวพ่นไปสร้างเป็นภาพบนวัสดุใช้พิมพ์
การพิมพ์แบบไฟฟ้าสถิตย์ (Electrostatic Printing) ซึ่งใช้หลักการควบคุมลำแสงสร้างภาพเป็นประจุไฟฟ้าบนกระบอกโลหะแล้วให้ผงหมึกไปเกาะบนกระบอกโลหะตามบริเวณที่มีประจุอยู่เกิดเป็นภาพที่ถูกถ่ายทอดไปเกาะติดบนวัสดุใช้พิมพ์อีกทีหนึ่ง เครื่องพิมพ์แบบไฟฟ้าสถิตย์ที่ใช้ลำแสงเป็นแสงเลเซอร์จะเรียกว่า เครื่องพิมพ์เลเซอร์ หรือ เลเซอร์พริ้นเตอร์ (Laser Printer)
อนึ่งพริ้นเตอร์ที่ใช้หลักการตามที่กล่าวมานี้ต่างได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถพิมพ์สอดสีได้ภาพที่มีสีสันใกล้เคียงต้นฉบับ แต่มีข้อเสียคือได้ผลผลิตต่ำเมื่อเทียบกับเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ท จนในปี 1993 ได้มีการจำหน่ายพริ้นเตอร์ที่มีความเร็วสูงชื่อ E-Print 1000 ซึ่งได้รับการพัฒนาจนถึงปัจจุบันโดยใช้ชื่อ HP Indigo ส่วนบริษัทหลาย ๆ แห่งเช่น Xerox, Canon, Minolta ต่างได้ออกเครื่องพริ้นเตอร์ความเร็วสูงโดยใช้หลักการของเครื่องถ่ายเอกสารสีแบบเลเซอร์ นอกจากนี้ยังมีระบบการพิมพ์อีกแบบหนึ่งที่ใช้เครื่องพิมพ์ออฟเซ็ทมาดัดแปลงโดยสร้างแม่พิมพ์บนโมลเพลทจากข้อมูลในคอมพิวเตอร์ก่อนทำการพิมพ์ การพัฒนาการพิมพ์ดิจิตอลยังคงดำเนินต่อไปทั้งด้านคุณภาพที่ดีขึ้น ความเร็วในการพิมพ์ที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่อแผ่นพิมพ์ที่ถูกลง
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.supremeprint.net/ สุพรีมพริ้นท์ จำกัด
Comments powered by CComment